วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อารักขาบุคคลสำคัญ

ความทรงจำ

แผนพัฒนางานในอนาคต

 ข้อเสนอการปรับปรุงหรือพัฒนางานในอนาคต
                           ของ  นายพัชรพล ต่ำคำดี
 เพื่อใช้ประกอบการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาอาวุโส
              กลุ่มงานรักษาความปลอดภัย สำนักรักษาความปลอดภัย

                            สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
.........................................................................................
๑.ชื่อผลงาน
 “การพัฒนางานและปรับปรุงการรักษาความปลอดภัย ด้านการอารักขาบุคคลสำคัญ”
วัตถุประสงค์ในการจัดทำ
        นำเสนอการปรับปรุงหรือพัฒนางานในอนาคต เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ ความเข้าใจ ในหน้าที่การ “รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ” และสามารถแสดงบทบาทได้อย่างเหมาะสมกับหน้าที่ เนื่องจากการปฏิบัติงานด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ จะต้องปฏิบัติงานไปพร้อมๆกับการปฏิบัติหน้าที่ประจำวันของบุคคลสำคัญ เพราะการ “รักษาความปลอดภัย” ที่ดี ไม่สามารถสรุปได้ว่ามาตรการไหนดีที่สุด มาตรการที่ดีที่สุด คือ จะต้องมีการประเมินผลและวางแผน คาดการณ์ถึงภยันตรายที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งกำหนดวิธีป้องกันไว้ล่วงหน้าเสมอ และเพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์/พันธกิจ ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏรได้วางแนวทางไว้ให้กับข้าราชการสายงาน ตำรวจรัฐสภา ดังต่อไปนี้
           วิสัยทัศน์ (Vision)
            พัฒนาข้าราชการสายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา สามารถปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพบนพื้นฐานของสมรรถนะ (Competency) มีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เทียบเท่ามาตรฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
          พันธกิจ (Mission)
          พัฒนาข้าราชการสายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา ให้มีความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน และปฏิบัติงานได้อย่างมืออาชีพ บนพื้นฐานของหลักสมรรถนะควบคู่กับความมีคุณธรรมจริยธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เทียบเท่าระดับมาตรฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
          - ทำให้ระบบการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญของรัฐสภามีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
        - ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภามีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ
        - ทราบปัญหาและอุปสรรค ในการปฏิบัติงานด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ
        - สามารถกำหนด แนวทางในการปรับปรุงการปฏิบัติงาน ด้านการรักษาความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
.บทนำ/หลักการและเหตุผล/ความสำคัญของเรื่อง
                                              - บทนำ -
          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  ๒๕๕๐  กำหนดให้รัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภา  มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ที่เปลี่ยนแปลง และเพิ่มมากขึ้นหลายประการส่งผลให้มีสมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรที่เกิดขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ และประชาชนใช้พื้นที่รัฐสภาในการปฏิบัติงาน ประสานงาน และติดต่อราชการเพิ่มมากขึ้น  รวมทั้งมีบุคคลสำคัญระดับประเทศไม่ว่าจะเป็นผู้นำของรัฐต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ หรือข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐทั้งในและต่างประเทศมาเยือนรัฐสภา  เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  หรือเข้าเยี่ยมคารวะประธานรัฐสภา เป็นต้น  และโดยที่รัฐสภาเป็นสถานที่ราชการที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาในบริเวณรัฐสภาได้ ซึ่งอาจเป็นช่่องทางให้มีผู้ไม่หวังดี อาชญากรข้ามชาติ หรือองค์กรอาชญากรรม กลุ่มก่อร้ายสากล เข้ามากระทำความผิดในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้โดยเฉพาะกระทำความผิดต่อบุคคลสำคัญระดับประเทศ ประกอบกับปัจจุบันกระแสการก่อวินาศกรรมทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ย่อมมีผลกระทบต่อรัฐสภาไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการ การรักษาความปลอดภัยอย่างดีที่สุดให้แก่บุคคลเหล่านี้
ประวัติความเป็นมาและภารกิจ
            กลุ่มงานอารักขาบุคคลสำคัญ ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช  ๒๕๔๙ ตามมติ กร. ให้จัดต้ัง กลุ่มงานอารักขาบุคคลสำคัญ ขึ้นมาทดลองการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญของรัฐสภา  ตามดำริของ  นายโภคิน  พลกุล อดีตประธานรัฐสภา วัตถุประสงค์เพื่อการดูแลความปลอดภัยให้กับบุคคลสำคัญของรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย
            ๑.ประธานสภาผู้แทนราษฎร/ประธานวุฒิสภา
            ๒.รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ ๑ และ ๒/รองประธานวุฒิสภาคนที่ ๑ และ ๒
            ๓.ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ในเบื้องต้นของการปฏิบัติงานมีเจ้าหน้าที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน ๑๓ นาย คัดเลือกมาจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ระดับ ๕ ขึ้นไป( ในสมัยนั้น) ที่ผ่านการทดสอบด้านสมรรถภาพของร่างกายและจิตใจ หลังจากนั้นได้ส่งบุคลากรเหล่านี้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ดังนี้
  • หลักสูตรอารักขาบุคคลสำคัญ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ หลักสูตร ๔๕ วัน
  • หลักสูตรทำนองรบหลัก(ปืนอัตโนมัติ) หลักสูตร ๑๘ ชั่วโมง
  • หลักสูตรทำนองรบหลัก(ปืนลูกโม่) หลักสูตร ๑๘ ชั่วโมง
  • หลักสูตรการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่า หลักสูตร ๒๔ ชั่วโมง
ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาได้ติดตามรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญร่วมกับหน่วยงานภายนอกตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา   ซึ่งผลการปฏิบัติงานด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญของรัฐสภา ตั้งแต่เริ่มต้นจัดตั้งกลุ่มงานจนถึงปัจจุบัน บุคคลสำคัญของรัฐสภาได้รับการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการทำงานตลอดการดำรงตำแหน่งทางการเมืองจนครบวาระ
หลักการและเหตุผล
          ด้วยเหตุผลและความจำเป็นที่ได้กล่าวมาข้างต้น และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญของรัฐสภา ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังนั้น ควรจะมีการเสริมสร้างบุคลากรให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทักษะด้านการรักษาความปลอดภัยให้มีความเป็นมืออาชีพ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการสร้างระบบและทีมงานการรักษาความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนลดความเสี่ยงอันตรายของบุคคลสำคัญทางการเมืองได้ และในการฝึกอบรมควรจะเน้นการเรียนรู้จากการฝึกภาคปฏิบัติ (Learning by doing)   ตลอดจนให้ผู้ได้รับการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ (Train the Trainer) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานสากล หลักสูตรต่างๆที่ควรจะได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาขึ้นไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ได้แก่หลักสูตร        
๑.ความรู้ในด้านยุทธวิธีการอารักขาบุคคลสำคัญ เช่น
     ๑.๑ การอารักขาบุคคลสำคัญในรูปขบวนเดิน และ ในรูปขบวนยานยนต์
     ๑.๒ การวางแผนปฏิบัติการรักษาความปลอดภัย
     ๑.๓ หลักสูตรทำนองรบหลัก(ปืนลูกโม่) จากขั้นพื้นฐานจนถึงชั้นสูง
     ๑.๔ หลักสูตรทำนองรบหลัก(ปืนอัตโนมัติ) จากขั้นพื้นฐานจนถึงชั้นสูง
     ๑.๕ หลักสูตรการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่า จากขั้นพื้นฐานจนถึงชั้นสูง
๒. ความรู้ทั่วไปด้านกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่และการปลูกฝังจิตสำนึกในการรักษาความปลอดภัย เช่น
      ๒.๑ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ.๒๕๕๔
      ๒.๒ คุณสมบัติของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ
      ๒.๓ บุคลิกภาพของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ
      ๒.๔ ความพร้อมของร่างกาย
      ๒.๕ การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน        
๓. ความรู้ในด้านภาษาต่างประเทศ
               ในพุทธศักราช ๒๕๕๘  เป็นปีแห่งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะมีการเปิดเสรีในการไปมาสู่อาเซียนระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนนี้ บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในงานด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญจึงมีความจำเป็นทางด้านภาษาเพื่อใช้ในการสื่อสาร  และการข่าวกับองค์กรหรือหน่วยงานภายนอกหรือการประสานงานระหว่างบุคลากรต่างประเทศที่มีภารกิจร่วมกัน
เพื่อให้การปฏิบัติหน้าเป็นไปด้วยความเรียบร้อยรวดเร็วและถูกต้อง เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ
               ดังนั้น  เพื่อให้งานด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญของเจ้าหน้าท่ีตำรวจรัฐสภาเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ  จึงเห็นควรให้มีการพัฒนาศักยภาพด้านกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ด้านยุทธวิธีการรักษาความปลอดภัยชีิวิตและทรัพย์สินบุคคลสำคัญ  ทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศสามารถติดต่อสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อให้เกิดความชำนาญในการปฏิบัติงาน  และมีความเป็นมืออาชีพต่อไป
ความสำคัญของเรื่อง
           - เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา ได้รับการอบรมเรียนรู้วิธีการและทักษะในการปฏิบัติการด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ
           - เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการสร้างระบบและทีมงานด้านการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนลดความเสี่ยงอันตรายของบุคคลสำคัญ
          - เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา นำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้เจ้าหน้าตำรวจรัฐสภาท่านอื่นในหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญได้ (Train the Trainer)
          - เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านภาษาต่างประเทศให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร ประสานงาน กับบุคคลภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๓.แผนงาน/แนวทางการดำเนินการ
        เพื่อให้งานด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างรวดเร็ว  ลดขั้นตอนการทำงาน  สะดวกต่อการบริหารงานบุคคล โดยปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาที่ปฏิบัตหน้าที่ในด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการอารักขาบุคคลสำคัญ ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญมีจำนวนเพียง ๑๗ คน  โดยปฏิบัติหน้าทีีรักษาความปลอดภัยประธานสภาผู้แทนราษฎร   มีจำนวน  ๑๓  คน ถือว่าเหมาะสมกับภารกิจ  ส่วนรองประธานสภาผู้แทนราษฎร  คนที่หนึ่ง  จำนวน  ๒ คน และรองประธานสภาผู้แทนราษฏร  คนที่สอง  จำนวน  ๒ คน  ซึ่งถือว่าน้อยมาก  เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจ รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ชุดนี้ส่วนหนึ่งขอกำลังพลมาจาก  กลุ่มงานรักษาความปลอดภัยและกลุ่มงานเทคโนโลย ซึ่งทำให้อัตรากำลังพลของกลุ่มงานดังกล่าวลดลง ส่วนเจ้าหน้าที่ของกลุ่มงานอารักขาบุคคลสำคัญที่ปฏิบัติงานอยู่จริงมี จำนวนเพียง ๒ คนเท่านั้น เนื่องจากบางท่านได้เลื่อนขั้นและไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นและไม่มีการแต่งตั้งและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ขึ้นมาทดแทน  ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญนั้นมีน้อยมาก ทำให้การทำงานลดประสิทธิภาพ และสายการบังคับบัญชายังไม่มีความคล่องตัว  เพราะการอยู่ภายใต้บังคับบัญชากลุ่มงานรักษาความปลอดภัยที่มีภารกิจงานด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและอาคารสถานที่รวมกันอยู่ทำให้ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานไม่สามารถดูแลและสั่งการได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว  การปฏิบัติหน้าที่ในการติดตามอารักขาบุคคลสำคัญจะต้องมีการตัดสินใจสั่งการในภารกิจที่จะต้องกระทำเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่บุคคลสำคัญได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง
         ผู้ขอรับการประเมินจึงมีความเห็นว่าสมควรจัดตั้งกลุ่มงานที่ทำหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญขึ้นมา  เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  เห็นสมควรดำเนินการดังนี้
๑. เพิ่มโครงสร้างกลุ่มงาน
          โดยให้มีกลุ่มงานอารักขาบุคคลสำคัญที่มีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ควบคุมดูแลสั่งการในภารกิจด้านการอารักขาบุคคลสำคัญ และเพิ่มเจ้าหน้าที่ในกลุ่มงานที่สามารถทดแทน  สับเปลี่ยน  สนับสนุน  หมุนเวียนกันในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องทั้งในยามปกติและยามฉุกเฉิน  ทำให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าท่ีสามารถสนับสนุนภารกิจของบุคคลสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
๒. กำหนดกรอบอัตรากำลัง  
         มาตรฐานตำแหน่งในกลุ่มงานให้ตรงเจตนารมณ์ของการตั้งกลุ่มงาน  ซึ่งประกอบด้วยตำแหน่งดังต่อไปนี้
          (๑) ผู้บังคับบัญชากลุ่มงาน  โดยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา  ระดับอาวุโส ถึงระดับทักษะพิเศษ จำนวน ๑ อัตรา
         (๒) วิทยากร  ระดับปฏิบัติการ ถึงระดับชำนาญการ  จำนวน ๑ อัตรา เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการศึกษา  ค้นคว้า วิเคราะห์  และวางแผนเกี่ยวกับมาตรการการรักษาความปลอดภัย
         (๓) เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา ระดับชำนาญ ถึงระดับอาวุโส  จำนวน  ๔ อัตราเพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชุด เพราะถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์และมีความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่การอารักขาบุคคลสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         (๔) เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา  ระดับปฏิบัติงาน ถึงระดับชำนาญงาน จำนวน  ๑๖  อัตรา เพื่อทำหน้าที่ทดแทน  สนับสนุน สับเปลี่ยน หมุนเวียนการปฏิบัติหน้าที่
         (๕) เจ้าพนักงานธุรการ และเจ้าพนักงานบันทึกข้อมูล ระดับปฏิบัติงาน  ถึงระดับชำนาญงาน  จำนวนอย่างละ  ๑  อัตรา  เพื่อสนับสนุนด้านธุรการภายในกลุ่มงาน
๓. การพัฒนาเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาด้านกฎหมาย
         ให้มีความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่  โดยจัดให้มีการฝึกอบรม แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างหน่วยงาน หรือจัดหาวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นมาให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอ
๔. การพัฒนาความรู้ด้านยุทธวิธีการอารักขาบุคคลสำคัญ  
         โดยจัดให้มีฝึกอบรมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัยเป็นหลัก เช่นศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ เป็นต้น  ตลอดจนการเพิ่มเติมความรู้ในด้านต่างๆอาทิเช่น
         (๑) การศึกษา  การวางแผน การอำนวย การประสานงาน และการกำกับดูแลเกี่ยวกับการปฏิบัติการการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ที่ต้องปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
         (๒) การศึกษาวางแผนและการดำเนินการเพื่อพิทักษ์รักษาชีวิต และทรัพย์สินบุคคลสำคัญ  อันเกิดจากอันตรายที่ไม่สามารถระบุหรือกำหนดได้ อุบัติเหตุ  การประมาทเลินเล่อ  หรือจงใจกระทำฝ่ายตรงข้าม
         (๓) การศึกษา การดำเนินการป้องกัน  และวางมาตรการสัญจรไปในสถานที่ต่างๆ  ที่มีความเสี่ยงอันตรายตามสถานการณ์บ้านเมือง
         (๔) การปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร  ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
         ๕. การพัฒนาด้านการติดต่อสื่อสารและประสานงานกับหน่วยงานอื่น โดยการพัฒนาในด้านนี้จะเน้นในเรื่องภาษาต่างปะเทศ การสร้างความสัมพันธ์  และการสร้างเครือข่ายกับองค์กรอื่น  เพื่อให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างกัน  โดยให้มีการจัดกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานได้อย่างรวดเร็วขึ้น เช่น การจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างหน่วยงาน  การศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างหน่วยงาน เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานได้เป็นอย่างดี
        ในการพัฒนาเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา  ด้านการอารักขาบุคคลสำคัญตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น  จะต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย กำหนดหัวข้อเรื่อง ความจำเป็นในการจัดทำหลักสูตรอบรมให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับงบประมาณที่สำนักงานได้จ่ายไป  และในการฝึกอบรมแต่ละครั้งจะต้องมีการรายงานผลหรือสาธิตการฝึกภาคปฏิบัติของผู้เข้ารับฝึกอบรมแต่ละรายบุคคลว่ามีความรู้ความเข้าใจมากน้อยเพียงใด  ซึ่งการประเมินนี้จะช่วยเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของแต่ละบุคคลได้เป็นอย่างดี
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
         จากแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการอารักขาบุคคลสำคัญให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาผลที่คาดว่าจะได้รับคือ
         ๑. สายการบังคับบัญชามีความคล่องตัว  ทำให้ผู้บังคับบัญชาสามารถตัดสินใจหรือสั่งการในภารกิจที่จะต้องอำนวยความสะดวกให้กับบุคคลสำคัญได้อย่างรวดเร็ว  ถูกต้อง  และมีประสิทธิภาพ
          ๒.เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภามีความรู้ความสามารถด้านยุทธวิธีที่ได้ผ่านการฝึกอบรม  สามารถนำมาใช้กับการปฏิบัติหน้าได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ  ทำให้บุคคคลสำคัญของรัฐสภาได้รับความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
         ๓.เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภามีความรู้ความสารถในการติดต่อสื่อสาร การประสางาน  และการอำนวยความสะดวกในภารกิจต่างๆ ของบุคคลสำคัญ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
         ๔.เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภามีความรู้  ความชำนาญ การคิด การวางแผน  ด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญเป็นอย่างดี
         จากการพัฒนาดังที่กล่าวมาทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา  ที่ผ่านการพัฒนาความรู้  การเพิ่มทักษะเทคนิคต่างๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทำให้มาตรการการรักษาความปลอดภัยรัดกุมยิ่งขึ้นจนทำให้บุคคลสำคัญของรัฐสภาได้รับความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

๔. ปัญหาและอุปสรรค


    ๑. การฝึกและอบรมในโครงการที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ “รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ” ไม่ต่อ
ยอดไปถึงชั้นสูง หรือ เพิ่มเติม ในคุณวุฒิที่สูงขึ้น ทำให้ขาดความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่
    ๒.​การติดต่อประสานงานกับตำรวจจราจรตามแยกต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของบุคคลสำคัญของรัฐสภาที่ไปปฏิบัติภารกิจตามสถานที่ต่างๆเป็นไปด้วยความลำบาก/ล่าช้าเนื่องจากวิทยุสื่อสารมีคลื่นความถี่ต่ำ
    ๓. มีข้อจำกัด เกี่ยวกับ “พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ” ในการพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะในขณะปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย ให้กับบุคคลสำคัญของรัฐสภา
    ๔. อัตรากำลังพลไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากการอารักขาบุคคลสำคัญต้องทำงานเป็นทีม
๕. ข้อเสนอแนะ
         ประเด็นหลักของ “การรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ” นั้นคือ การยับยั้ง ขัดขวาง ป้องกัน เพื่อลดความเสียหาย ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกับบุคคลสำคัญได้ จึงต้องอาศัยความเข้าใจและมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกัลบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกัน เพราะงาน รักษาความปลอดภัย ต้องเกี่ยวข้องกับ “คน” จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องนั้นๆควบคู่กับการข่าวและแผนปฏิบัติงาน มากกว่ามาตรการควบคุมที่เข็มงวดเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ผู้บังคับบัญชา ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในด้านการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ ควรดำเนินการจัดทำแผนการและฝึกอบรมเจ้าหน้าด้านการรักษาความปลอดภัย เช่น
การจัดทำแผนด้านการรักษาความปลอดภัย
         - การพิจารณาและวิเคราห์ระบบการรักษาความปลอดภัย ประจำวัน/สัปดาห์/เดือน
         - การประเมินภยันตรายอันจะเกิดขึ้น
         - การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และอาจจะเกิดขึ้นกับการรักษาความปลอดภัย
         - การวางมาตรการรักษาความปลอดภัยในทางตอบโต้
         - การวางมาตรการรักษาความปลอดภัยในทางป้องกัน
         - การเสนอแผนการรักษาความปลอดภัย
         - การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
         - การดำเนินงานด้านการข่าว
การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในทางปฏิบัติ
         - การระงับเหตุ
         - การสืบสวน สอบสวน
         - การรักษาความปลอดภัย บุคคล เอกสาร สถานที่
         - การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
แนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ        
         ๑. ควรเปิดโครงการฝึกอบรมความรู้ความเข้าใจในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความรู้ใหม่ๆ ในการอารักขาบุคคลสำคัญ
          ๒.ผู้บังคับบัญชา ควรจะทำการขอใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กำหนดแล้ว โดนดำเนินการ
              (๑) ขอใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว หรือกล่าวโดยย่อว่า “มีใบพก” (มีใบป.๑๒) หรือ
              (๒) ปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฏหมายกำหนดหรือพกโดยข้อยกเว้นของกฏหมาย
         ๓. ควรจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอ
         ๔. ควรอบรมและปลูกจิตสำนึกของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ให้มีการทำงานเป็นทีม อย่าหลีกเลี่ยงหน้าที่การงาน เพราะหากเกิดความเสียหายทุกคนในหน่วยงานจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน
         ๕. ควรจัดหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน
         ๖. ควรพิจารณาความก้าวหน้า ให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญทุกคน ด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม
         ๗. ควรจัดหายานพาหนะที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการปฏิบัติงาน
         ๘. ควรจัดสวัสดิการ และค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญอย่างเหมาะสม
         ๙. ควรเปิดให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมวางแผนในการทำงาน
บทสรุป
การปฏิบัติงานด้าน “การรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ” ของเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา จะประสบความสำเร็จได้ ปัจจัยสำคัญต้องขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ (Honesty) ความมั่นคง (Integrity) ความจงรักภักดี (Loyalty) ของเจ้าหน้าที่ต่อหน่วยงาน ดังนั้นจึงต้องมีการพิจารณาคุณสมบัติอื่นๆนอกเหนือจากคุณวุฒิด้านการศึกษาและความสามารถในการปฏิบัติงาน เช่น ควรจะพิจารณาจากจุดแข็ง จุดอ่อน ในลักษณะนิสัย ความกดดันและพันธะต่างๆ จากภายนอก อุปนิสัย และการจูงใจ การสมาคม และญาติพี่น้องมิตรสหาย เป็นต้น เพื่อประสิทธิภาพ และมีระบบบริหารงานที่ดี จึงเห็นควรให้มีการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา ในงานด้านนี้อย่างจริงจัง เพื่อความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ด้านการอารักขาบุคคลสำคัญ ตั้งแต่การกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครสอบคัดเลือก การบรรจุแต่งตั้ง และการฝึกอบรมทบทวนในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความชำนาญในการปฏิบัติงานทั้งในทางทฤษฎีและการปฏิบัติ เพื่อให้มีศักยภาพเทียบเท่าหน่วยงานอื่นๆ ในสายงานด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคั
  บรรณานุกรม
หนังสือ/อ้างอิง/บทความ
- แผนพัฒนาข้าราชการสายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา อ้างอิง : เรื่อง วิสัยทัศน์ / พันธกิจ
- บทความ เรื่อง พกปืนอย่างไรจึงไม่ผิดกฏหมาย โดย น.ท.นิกร เลื่อนเพ็ชร หน.ผสฎ.กกฎ.สธน.ทอ
- อุทัย อัศววิไล (๒๕๓๐) การอารักขาบุคคลสำคัญ เอกสารประกอบคำบรรยาย กอง ๘ ศูนย์รักษาความปลอดภัย สำนักผู้บัญชาการสูงสุด กรุงเทพฯ : ม.ป.พ.
- ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๑๗, พ.ศ.๒๕๔๔
สื่ออิเล็กทรอนิกส์
- www.parliament.go.th  :: รัฐสภา
- www.afsc.rtarf.mi.th     :: ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย